การรีไฟแนนซ์บ้านสามารถโอนความคุ้มครองจากกรมธรรม์เก่าไปได้หรือไม่?

0
2078

Insurance Knowledge โดย ประสิทธิ์ คำเกิด 

การรีไฟแนนซ์บ้านสามารถโอนความคุ้มครองจากกรมธรรม์เก่าไปได้หรือไม่?

        สวัสดีครับ กลับมาพบกันกับ Insurance Knowledge ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระที่จะเสริมสร้างภูมิความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยชีวิตและการประกันวินาศภัย  ให้กับทุกท่าน จากครั้งก่อนๆและครั้งที่แล้วเราได้เกริ่นนำให้กับทุกท่านให้ทราบว่าการประกันภัยคืออะไร มีกี่ชนิด กี่แบบ มีรายละเอียดอะไร อย่างไรกันไปแล้ว นะครับ สำหรับครั้งนี้และครั้งต่อๆ ไปเราจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับการประกันภัยกันโดยนำประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในอดีต ปัจจุบัน และ อนาคต ที่เราควรทราบมาเรียนรู้กันนะครับ

        ประเด็นปัญหา :  กู้เงินธนาคารเพื่อซื้อบ้านที่อยู่อาศัย ทางธนาคารก็จะให้เราทำสัญญาเงินกู้ สัญญาประกันเงินกู้ สัญญาประกันอัคคีภัย เอาไว้ ต่อมาได้มีธนาคารแห่งใหม่ได้มีข้อเสนอที่ดีในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อบ้านที่อยู่อาศัย และจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระ จึงได้ตัดสินใจทำการรีไฟแนนท์ ปรากฎว่าธนาคารแห่งใหม่นี้มีเงื่อนไขข้อหนึ่งว่า เจ้าของบ้านต้องทำการประกันคุ้มครองเงินกู้ 1 ฉบับ และการประกันอัคคีภัย กับธนาคารแห่งใหม่นี้อีกหนึ่งฉบับ คำถามที่อยากรู้คือ กรมธรรม์คุ้มครองเงินกู้ และ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ที่เจ้าของบ้านทำเอาไว้กับธนาคารเก่าไว้ โดยระบุว่าธนาคารเป็นผู้รับประโยชน์หากผู้กู้เสียชีวิตลง หรือเกิดเพลิงไหม้บ้าน กรณีอย่างนี้ เราสามารถโอนความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันคุ้มครองเงินกู้ และ การกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จากธนาคารแห่งเดิมมายังธนาคารแห่งใหม่ได้หรือไม่?

         คำตอบ : เชื่อว่าหลายท่านคงมีข้อสงสัยตามประเด็นปัญหานี้นะครับเพราะช่วงนี้มาแรงมากเลย เพราะว่าปัจจุบันนี้เวลาใครไปทำการกู้เงินซื้อบ้านกับธนาคารผู้กู้มักจะถูกแนะนำหรือเสนอให้ทำการประกันภัยอยู่หลายอย่างเช่น การประกันคุ้มครองเงินกู้ การประกันอัคคีภัย และการประกันชีวิต การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล การประกันสุขภาพ ฯลฯ เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยได้เปิดให้ธนาคารสามารถเป็นนายหน้าประกันชีวิต และหรือนายหน้าประกันวินาศภัยได้ ซึ่งเป็นการบริการเสริมของธนาคารที่สามารถกระทำได้แต่ต้องทำตามคำสั่งของนายทะเบียน (คปภ.) เอาละครับเรามาเรียนรู้กันต่อละครับ

         ประการแรก เราต้องมาเรียนรู้กันก่อนครับว่าการประกันเงินกู้คืออะไร?

         การประกันคุ้มครองเงินกู้ที่ธนาคารเสนอนี้จริงๆ แล้วก็คือ การประกันชีวิตอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองวงเงินสินเชื่อที่เรากู้เพื่อซื้อบ้านเพื่อยู่อาศัย คำศัพท์ทางประกันเรียกว่า Modget Reducing Time Assurance หรือ MRTA หมายถึง การประกันชีวิตของผู้กู้เพื่อเป็นหลักประกันว่า หากผู้เอาประกันภัยหรือผู้กู้เสียชีวิตลง ตามสัญญาภาระหนี้ที่มีการกู้กับทางธนาคารนั้นทางธนาคารก็จะเป็นผู้รับประโยชน์จากเงินเอาประกันเพื่อมาจ่ายเงินกู้ให้กับธนาคารนั่นเอง การประกันชีวิตแบบนี้ความคุ้มครองจะลดลงตามระยะเวลาที่เรากู้ไปโดยการลดลงนั้นจะสัมพันธ์กับยอดหนี้ที่ผ่อนชำระไปเรื่อยๆ เช่น นาย ก. กู้ซื้อบ้าน 20 ปี ยอดเงินเอาประกัน 2,500,000 บาท โดยมีค่าเบี้ยประกันภัย 50,000 บาท โดยส่วนใหญ่ทางธนาคารจะให้ทำการชำระครั้งเดียวเลย โดยจะหักจากยอดเงินกู้หรือจะจ่ายสดเลยก็แล้วแต่ความสะดวก หากผ่อนบ้านมาได้ 5 ปี นาย ก. ได้นำเงินมาโปะบ้านจนหมด แต่ความคุ้มครองของประกันจะยังคงมีอยู่ นาย ก. สามารถเลือกที่จะขอเงินค่าเบี้ยประกันในส่วนที่เหลือคืนได้ หรือ นาย ก. จะยังให้กรมธรรม์คุ้มครองแบบเดิมต่อไปก็ได้หากเกิดกรณีเสียชีวิตขึ้นธนาคารหรือบริษัทประกันก็จะจ่ายตามยอดที่จำนวนยอดที่ลดลงสัมพันธ์กับยอดกู้ในตอนที่เรากู้มานั้นให้กับผู้กู้

        การประกันอีกแบบหนึ่งที่ช่วงนี้ทางธนาคารนิยมทำกันคือ การเสนอขายแบบประกันชีวิตโดยการร้องขอความช่วยเหลือให้ผู้กู้เงินธนาคารช่วยทำประกันชีวิตอีกฉบับหนึ่ง โดยที่ผู้กู้ก็จะเข้าใจว่าเป็นการประกันคนและแบบกับการประกันคุ้มครองเงินกู้ และผู้กู้เองก็เกรงว่าจะมีผลกับเงินที่ขอกู้จึงอาจตกลงทำประกันชีวิตอีกหนึ่งฉบับและนอกจากนี้แล้วผู้กู้ต้องทำประกันอีกแบบหนึ่ง คือ การประกันอัคคีภัยซึ่งเป็นการประกันวินาศภัยที่กำหนดไว้ในสัญญาเลยครับว่า ผู้กู้ต้องทำประกันอัคคีภัยเพื่อคุ้มครองบ้านตามมูลค่าที่ขอกู้กับทางธนาคารโดยบางแห่งจะมีการเก็บเบี้ยครั้งละ 3 ปี หรือมากกว่านี้ก็แล้วแต่จะมีการตกลงกันเป็นอย่างนี้ก็เรียบร้อยละครับสามกรมธรรม์บางธนาคารหักจากยอดเงินกู้ก็มีบางธนาคารก็ให้ชำระเงินสดกันเลยก็มี ลักษณะอย่างนี้มีการดำเนินการกันมากในช่วงระยะนี้ เนื่องจากใกล้ปิดยอดการขายสิ้นปีแล้ว จึงไม่แปลกใจว่าทำไมช่วงนี้ปัญหาประเด็นนี้ถึงมาแรง และด้วยเหตุที่ผู้กู้จะต้องขอกู้กับธนาคารแล้วเกรงว่าหากไม่ทำตามที่เจ้าหน้าที่ธนาคารร้องขอก็เกรงว่าทางธนาคารอาจไม่ปล่อยเงินกู้ให้ หรือ อาจมีการกระทำในลักษณะให้เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการกู้เงินจึงต้องยอมทำตามที่เจ้าหน้าที่ธนาคารเสนอ ทางสำนักคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ สำนักงาน คปภ. ในฐานะนายทะเบียนผู้มีอำนาจตามกฎหมายจึงได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการเสนอขายประกันภัยหรือ การประกันชีวิตผ่านธนาคาร หรือ  BANCASSURANCE  ซึ่งเป็นการเสนอขายโดยพนักงานธนาคารที่ได้รับอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันวินาศภัยเท่านั้นโดยมี คำสั่งนายทะเบียนกำหนดให้ถือปฏิบัติดังนี้

1.ผู้เสนอขาย(เจ้าหน้าที่ธนาคาร) ต้องแจ้งชื่อ-นามสกุลพร้อมแสดงใบอนุญาตนายหน้าเสมอ

2.การทำประกันภัยของลูกค้าต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจห้ามบังคับหรือใช้เป็นเงื่อนไขในการต่อรองให้สินเชื่อหรือ ธุรกรรมใดของธนาคาร

3.ธนาคารจะต้องปฏิบัติตามระเบียบการของ คปภ. เช่นเดียวกับนายหน้าประกันภัย คือ ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการเสนอขาย ประกันวินาศภัย หรือ ประกันชีวิต และหากผู้มุ่งหวังแสดงเจตนาชัดเจนว่าไม่ต้องการซื้อ ต้องหยุดหรือยุติการเสนอขายทันที และเมื่อเมื่อผู้มุ่งหวังอนุญาตจะต้องอธิบายเกี่ยวกับกรมธรรม์ของบริษัทที่ตนเองสังกัดให้ลูกค้ามีความเข้าใจชัดเจนพร้อมให้คำแนะนำแบบกรมธรรม์หรือการประกันภัย การประกันชีวิตที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของลูกค้า และความสามารถในการชำระเบี้ยรวมถึงการส่งมอบกรมธรรม์หรือออกใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยของบริษัทที่รับประกัน

          คงได้รับทราบกันชัดเจนแล้วนะครับว่า การเสนอขายประกันโดยเจ้าหน้าที่ของธนาคารนั้นมีข้อควรปฏิบัติอย่างไร?  ดังนั้นจึงตอบคำถามที่ว่า กรมธรรม์คุ้มครองเงินกู้ที่เจ้าของบ้านทำเอาไว้กับธนาคารเก่าไว้โดยระบุว่าธนาคารเป็นผู้รับประโยชน์หากผู้กู้เสียชีวิตลง กรณีอย่างนี้ เราสามารถโอนความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันคุ้มครองเงินกู้จากธนาคารแห่งเดิมมายังธนาคารแห่งใหม่ได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ครับแต่ทั้งนี้ต้องได้รับความยินยอมจากทางธนาคารแห่งเก่าก่อน ซึ่งโดยทั่วไปธนาคารแห่งใหม่จะช่วยดำเนินการให้ แต่หากทางธนาคารไม่ดำเนินการให้ ทางเจ้าของบ้านซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยก็สามารถขอเงินค่าเบี้ยประกันในส่วนที่เหลือคืนได้ครับ

         ส่วนการประกันอัคคีภัย ที่เจ้าของบ้านทำไว้กับทางธนาคาร เพื่อคุ้มครองความเสียหายของทรัพย์สินที่เป็นตัวบ้านเฟอร์นิเจอร์ในบ้านนั้น เนื่องจากตัวบ้านยังเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร ในกรมธรรม์ประกันภัยจึงมีการกำหนดว่าให้ธนาคารเป็นผู้รับผลประโยชน์จากการเอาประกันภัยนั้น เมื่อเรามีการรีไฟแนนซ์กับธนาคารแห่งใหม่ ก็หมายความว่าจะมีการปิดยอดเงินกู้กับธนาคารแห่งเดิมโดยกระบวนการระหว่างสองธนาคารนั้น คำถามที่ว่าเราสามารถโอนความคุ้มครองจากกรมธรรม์เดิมที่ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ เป็นชื่อธนาคารเก่า ไปเป็นชื่อธนาคารแห่งใหม่ได้หรือไม่?

        คำตอบสามารถทำได้ครับเราพบว่า ตัวบ้านและผู้เอาประกันภัยนั้นยังคงเหมือนเดิม หากแต่ให้มีการเปลี่ยนชื่อผู้รับผลประโยชน์จากชื่อธนาคารเก่ามาเป็นธนาคารใหม่ เหมือนการประกันภัยเงินกู้นั่นแหละครับโดยส่วนใหญ่ทางธนาคารแห่งใหม่ก็จะประสานดำเนินการให้ แต่ก็อาจมีบางธนาคารไม่มีสัญญากับบริษัทประกันภัยที่เราทำไว้ ก็อาจไม่สามารถทำให้เราได้ กรณีนี้เราสามารถดำเนินการเองได้ครับ โดยการขอหนังสือรับรองจากธนาคารแห่งใหม่ และนำกรมธรรม์ประกันภัย ไปติดต่อบริษัทประกันภัยเพื่อทำการออกสลักหลังแก้ไขชื่อผู้รับประโยชน์จากชื่อธนาคารเก่า  เป็น ชื่อธนาคารแห่งใหม่ ก็สามารถทำได้ครับ”

          การประกันภัยเป็นหลักประกันเพื่อความมั่นคงของสังคม ระบบการประกันภัยมีมาตรการทางกฎหมาย กฎระเบียบ ควบคุมกำกับดูแล จึงขอให้มั่นใจได้ว่า บริษัทที่รับประกันภัยท่านเอาไว้นั้นจะรับผิดชอบตามที่มีการกำหนดไว้ในสัญญาหรือกรมธรรม์อย่างแน่นอน ที่สำคัญเมื่อทำประกันภัยและได้รับกรมธรรม์ประกันภัยแล้วต้องตรวจสอบความถูกต้องและทำความเข้าใจในสาระสำคัญของสัญญาให้ชัดเจนนะครับ เพื่อเราจะได้รับรู้ถึงสิทธิของเราตามสัญญาอย่างแท้จริง…แล้วพบกับ IK ครั้งต่อไป…สวัสดีครับ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่